ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่
ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมตะวันตกซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประภาสยุโรป แล้วเริ่มมีการติดต่อกับต่างประเทศในแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศส ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classicism) รูปทรงเป็นหลังคาปั้นหยา ด้านหน้าอาคารมีเสาในรูปแบบดอริก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมกรีก มีโครงสร้างแบบวงโค้งซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโรมัน มีกำแพงเตี้ยปิดโดยรอบ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก พนังก่ออิฐฉาบปูน และมีความหนาพิเศษ พื้นปูด้วยไม้สัก รูปแบบอาคารราชการขนาดกลางแบบสมมาตร และนำเอาแนวคิดในรูปแบบของนีโอคลาสสิกที่มีพื้นฐานมาจากกรีกและโรมันในเรื่องความเข้มแข็ง สง่างาม มาใช้กับตัวอาคารของศาลที่เต็มไปด้วยความเข้มแข็ง หนักแน่น ยุติธรรม สถาปนิกผู้สร้างเป็นชาวอิตาลี ที่มารับราชการในกรมโยธาธิการ บริเวณข้างเคียงมีบ้านพักจ่าศาล เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
ลัทธินีโอคลาสสิก (Neo-Classicism)
ลัทธินีโอคลาสสิคมี แบบอย่างอันแสดงให้เห็นถึงเหตุและผลความถูกต้องชัดเจนของสัดส่วนและความจริงตามหลักกายวิภาค ความสัมพันธ์ของเรื่องราวที่สมเหตุผล ความสัมพันธ์ของขนาดและลักษณะของการจัดภาพ ความคิดสร้างสรรค์ตามเรื่องราวที่มีเหตุผล และเสรีภาพในการทำงานของศิลปินอย่างมีทักษะ
นักประวัติศาสตร์ได้จัดให้ลัทธินีโอคลาสสิก (Neo-Classicism) เป็นช่วงของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) โดยเริ่มเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดจากการต่อต้านทุกระบบที่เป็นการแบ่งชนชั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในยุโรป ยุคอำนาจและการรวมศูนย์ของกษัตริย์เริ่มเสื่อมคลาย ประชาชนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้ผูกขาดกับผู้มีอำนาจอยู่เพียงผู้เดียว จนเกิดระบบเสรีนิยม ดังนั้นในช่วงนี้ ศิลปินมีแนวคิดอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ยึดติดกับประเพณีเก่าๆ ศิลปินใดที่มีแนวคิดอุดมการณ์แบบเดียวกัน ก็เกิดการรวมกลุ่มตั้งเป็นลัทธิศิลปะ(ด้วยเหตุนี้ศิลปะในช่วงนี้ จึงลงท้ายชื่อด้วย “ism” ซึ่งหมายถึง กลุ่มลัทธิ) ประกอบกับช่วงนี้มีการปฏิวัติทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งด้านวัสดุ วิธีการ และรูปแบบ ดังนั้น หากเรายอมรับว่าช่วงนี้เป็นยุคแห่งการปฏิวัติ คงไม่มีคำใดเหมาะสมกว่าที่จะเรียกว่า “สมัยใหม่”
นีโอคลาสสิก เกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี จากนั้นกระจายไปที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้เป็นผลพวงจากในช่วงขณะนั้นนักโบราณคดี ได้ขุดค้นเมืองกรีกโบราณ “เมืองปอมเปอี” ได้ค้นพบศิลปวัตถุล้ำค่า ทำให้มีการประชาสัมพันธ์การขุดค้นด้านโบราณคดีกันอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดความนิยมชมชอบโดยทั่วไป และหันมารื้อฟื้นในรูปแบบศิลปะของกรีกและโรมันขึ้นมาอีกครั้ง โดยนำแนวคิดรูปแบบศิลปะของกรีกและโรมันกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นคำว่า “นีโอคลาสสิก” จึงเป็นคำที่มีความหมายตรงตัว คือ “นีโอ(Neo)” หมายถึง ใหม่ “คลาสสิก(Classic)” หมายถึง กรีกและโรมัน ซึ่งรวมกันแล้วหมายถึง ความเคลื่อนไหวของศิลปะ ที่มีสุนทรียภาพตามแบบศิลปะกรีกและโรมัน
การถือกำเนิดของศิลปนีโอคลาสสิก ยังเกิดขึ้นกับปัจจัยอื่นหลากหลายประการ เช่น คริสตจักรแห่งวาติกันได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ความเบื่อหน่ายต่อศิลปะ บารอคและรอคโกโก(Barouque and Rococo) ซึ่งมีรสนิยมอันหรูหรา ฟุ่มเฟือย หรือมุ่งเอาใจชนชั้นสูงมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ศิลปินและปัญญาชนสมัยนั้นต่างถือว่า ไม่ใช่ความงามสมบูรณ์แบบ ตามคตินิยมของกรีกและโรมัน พวกเขายึดมั่นในอุดมคติของกรีกและโรมัน ดังนั้นรูปแบบความงาม และเนื้อหาต่างๆ จึงเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ ความชัดเจน เหตุผล ความมีสัดส่วน และความเสมอภาค คล้ายศิลปะกรีกและโรมัน มีเพียงวัสดุและวิธีการก่อสร้าง ที่เปลี่ยนแปลงบ้างตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
ด้านจิตรกรรม ส่วนใหญ่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยกรีกและโรมัน หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วไป ภาพคน จะเขียนอย่างถูกต้องตามหลักการในภาพ มีท่าทางสง่าผ่าเผย ใช้สีถูกต้องตามหลักการทฤษฎีหลักของแสงและเงา มีการไล่เฉดสีอ่อนแก่ เพื่อให้เกิดความกลมกลืน เป็นสัดส่วนและความเด่นชัด บางครั้งก็แสดงออกถึงแนวคิดใหม่ๆ จิตรกรที่สำคัญได้แก่ ชาก ลุย ดาวิด(Jacques Louis David) ชอง โอกุสต์ โดมีนีก แองกร์ (Jean Auguste Dominique lngres)
ชาก ลุย ดาวิด(Jacques Louis David)
(อ้างอิงจาก http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c6/David_Self_Portrait.jpg )
ชอง โอกุสต์ โดมีนีก แองกร์ (Jean Auguste Dominique lngres)
(อ้างอิงจาก http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/94/Ingres,_Self-portrait.jpg )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น